Deal of The Day !!!

[Knowledge] มารู้จักแอมป์แต่ละคลาสกันเถอะ Class A, B, AB, D มันคืออะไรกันน้อ


     กลับมาพบกันอีกแล้วนะครับ หลังจากที่เผยแพร่บทความ "มาเรียนวิธีอ่านสเปคลำโพงแบบเข้าใจง่ายๆกันดีกว่า" ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีมากมาย มีผู้อ่านจนถึงตอนนี้จะหมื่นคนแล้วจึงทำให้มีกำลังใจจะเขียนบทความดีๆออกมาให้ได้อ่านกันอีกเรื่อยๆ

     ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงคลาสของแอมป์กันว่าที่คุณผู้อ่านเคยเห็น แอมป์คลาส A, B, A/B, D และอื่นๆ มันคืออะไรและมันมีข้อดีในแต่ละคลาสอย่างไร เพื่อความเข้าใจง่ายๆผมจะพูดถึงแค่ 4 คลาสเท่านั้นพอ เนื่องจากในวงการเครื่องเสียงของเรามักจะเจอกันแค่นี้แหละ 4 คลาสหลักๆ (เอาจริงๆแล้วมีแต่ A, B, A/B ซะส่วนมากด้วยซ้ำในวงการ Hiend) เพื่อไม่ให้การเสียเวลาเราไปเริ่มกันเลยดีกว่าครับ


Class A 

     ภาคขยายของวงจรแบบ Class A นั้น จะมีการจ่ายกระแสให้กับทรานซิสเตอร์อยู่ตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะไม่มีสัญญาณ input เข้ามาเลยก็ตาม การที่มีกระแสไฟไหลผ่านทรานซิสเตอร์ในปริมาณสูงตลอดเวลาจึงทำให้แอมป์ชนิดนี้มีความร้อนมาก (หลักการเดียวกับเตารีดเลย เปิดไฟทิ้งไว้ตลอดเวลา) ข้อดีของวงจร Class A นั้นก็คือทำให้มีค่าความเพี้ยนต่ำกว่าวงจรชนิดอื่นๆ มีความต่อเนื่องลื่นไหลเนื่องจากว่ามีกระแสไฟพร้อมให้ใช้งานได้ตลอดเวลา ส่วนข้อเสียก็คือแอมป์ Class A นั้น มีการสูญเสียทางไฟฟ้าเกิดขึ้นจำนวนมากเนื่องจากต้องจ่ายไฟแบบเต็มกำลังทิ้งไว้ตลอดเวลานั่นเองและให้กำลังขับได้ไม่สูงนัก เพราะถ้าทำแอมป์ Class A ที่มีกำลังขับสูงมากๆนั้นจะต้องใช้หม้อแปลงขนาดใหญ่มากๆ และแผงระบายความร้อนขนาดใหญ่ ก็จะทำให้แอมป์มีขนาดที่ใหญ่มากและมีน้ำหนักมากตามไปด้วย

     อ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าบางคนก็ยังงงกับการทำงานแบบ Class A อยู่ การจ่ายไฟแบบ Class A นั้นเปรียบได้เสมือนกับการล้างจานและเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ตลอดเวลา เมื่อใดที่คุณจะล้างจานคุณก็จะมีน้ำให้ใช้ได้อย่างทันท่วงที แต่ในขณะที่คุณไม่ได้ใช้น้ำ น้ำก็จะถูกเปิดทิ้งไปอย่างสิ้นเปลืองนั่นเอง


 Class B

     ภาคขยายของวงจรแบบ Class B นั้นเรียกได้ว่าแตกต่างจาก Class A อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการทำงานของ Class B นั้น จะทำงานก็ต่อเมื่อมีสัญญาณ input เข้ามา วงจรถึงจะทำการขยายสัญญาณ แอมป์ชนิดนี้ข้อดีคือทำกำลังขยายได้สูง มีการสูญเสียน้อยมาก ส่วนข้อเสียน่ะเหรอ การทำงานของ Class B ทำให้มีความเพี้ยนเกิดขึ้นสูงมาก และเสียงที่ได้ไม่มีคณภาพเอาซะเลย ตอนนี้ไม่น่าจะมีใช้ทำแอมป์คลาส B ออกมาใช้แล้ว ยกเว้นงานเฉพาะทางจริงๆ

     แอมป์ Class B เปรียบเสมือนการล้างจาน แล้วเปิดก๊อกเมื่อต้องการใช้น้ำ พอใช้เสร็จก็ปิดน้ำ มาถูจานด้วยฟ้องน้ำต่อ พอจะล้างอีกทีก็ไปเปิดน้ำใหม่ ทำให้การทำงานเป็นไปได้ช้าและไม่ต่อเนื่อง เสียงที่ได้ก็เป็นแบบนี้แหละ

http://smarturl.it/partch

 Class A/B

     แอมป์ Class A/B เป็นการผสมผสานระหว่างข้อดีของ Class A กับ Class B เข้าด้วยกัน คือการปล่อยกระแสไหลผ่านทรานซิสเตอร์ไว้ตลอดเวลาเพียงเล็กน้อย และจ่ายกระแสเต็มที่เมื่อมีสัญญาณ input เข้ามา ประโยชน์ของการทำแบบนี้จะทำให้ สัญญาณ input ที่มีขนาดเล็กสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องเพราะกระแสไฟปริมาณน้อยถูกปล่อยทิ้งไว้ในวงจรบางส่วนตลอดเวลานั่นเอง (จริงๆมันซับซ้อนกว่านี้นะแต่โดยหลักการทำงานก็ประมาณนี้แหละครับ)

     ข้อดีของแอมป์ชนิดนี้มีมากมายเหลือเกินทั้งให้เสียงที่ดีเลยทีเดียว ถึงแม้จะไม่เท่า Class A แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าดีทีเดียว และยังทำกำลังขับได้สูงกว่าเกิดความร้อนและการสูญเสียทางไฟฟ้าน้อยกว่า Class A อีกด้วย แอมป์ Class A/B น่าจะเป็นภาคขยายที่ได้รับความนิยมที่สุดทั้งในคุณภาพเสียงและงบประมาณอยู่ในระดับที่จะทำให้ถูกหรือจะทำแพงๆก็ทำได้ทั้งนั้น

     แอมป์ Class A/B เปรียบเสมือนการล้างจาน แล้วเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้เบาๆ เมื่อมีจุดที่ต้องล้างเล็กๆน้อยๆก็สามารถใช้น้ำได้ทันที

Class D

     มาถึงอันสุดท้ายที่จะพูดถึงคือแอมป์ Class D นั่นเองเนื่องจากมันไม่ค่อยนิยมในหมู่นักเล่น Audiophile นักและในหลักการก็ยากเกินไปที่จะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆด้วย ก็จะพูดคร่าวๆแล้วกันนะครับ
   
     แอมป์ Class D นั่น มีการทำงานคล้ายๆ Class B นั่นคือการเปิด-ปิด กระแสเมื่อมีสัญญาณ Input เข้ามาแต่ทฤษฎีและการออกแบบนั้นต่างกันสิ้นเชิง แอมป์ Class D นั้นส่วนมากจะใช้ Switching Power Supply เป็นแหล่งจ่ายไฟแทนที่ของหม้อแปลง และใช้การขยายสัญญาณแบบ PWM (Pulse Width Modulate) ทำให้แอมป์มีขนาดเล็ก และมีกำลังขับที่สูงมาก เมื่อเทียบกับขนาดของแอมป์ และมีความร้อนสะสมน้อย แอมป์ Class D เป็นแอมป์ที่มักจะเน้นไปในเรื่องของพละกำลังแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่จึงนำมาทำเป็นแอมป์ขับซับวูฟเฟอร์ หรือ แอมป์ตัวเล็กๆที่ต้องการพละกำลังสูงๆ แรงๆ หนักๆ แต่เพียงอย่างเดียว ส่วนคุณภาพเสียงน่ะเหรอ ลืมไปได้เลย

     แอมป์ Class D เปรียบเสมือนการล้างจาน แล้วเปิดก๊อกน้ำปิดอย่างรวดเร็วรัวๆสลับไปมาต่อเนื่องตลอดเวลา ทำให้ใช้น้ำได้อย่างประหยัดคุ้มค่า แต่ก็ไม่ต่อเนื่องนั่นเองครับ (จริงๆมันยากกว่านี้เยอะนะครับเปรียบเทียบแบบนี้อาจจะไม่ตรงเท่าไร แต่ถ้าให้อธิบายให้ถูกต้องมันก็จะไม่ง่ายแล้วหละครับ)

     แอมป์ Hi-end Class D ที่ผมนึกออกตอนนี้คือ Jeff Rowland 102 D เห็นในภาพนี่เหมือนตัวใหญ่นะครับ ตัวจริงพกใส่เป้สะพายหลังได้สบายๆเลย (เห็นเล็กๆแบบนี้แสนกว่าบาทนะคร้าบ)


     ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ได้หมายความแอมป์ Class A จะเป็นแอมป์ที่ดีที่สุด ถ้าเอาแอมป์ Class A ไปฟังเพลงหวานๆ นั่นคือสิ่งที่ถูกต้องและเป็นแนวทางของมัน แต่หากคุณเอาไปฟังเพลงฮิพฮ็อพคุณก็จะได้เสียงที่หย่อนยาน ช้าๆเนิบๆ ซึ่งมันก็จะกลายเป็นแอมป์ที่แย่มากๆ เพราะฉะนั้นเลือกแนวเพลงที่ตัวเองชอบฟังก่อนเลือกประเภทของแอมป์เสมอนะครับ ซื้อตามคนอื่นไม่ได้แปลว่ามันจะดีสำหรับเรา วันนี้ก็ขอลาไปเท่านี้ครับแล้วพบกันใหม่สวัสดีครับ

Irene Audio
Line: cchalerm

www.ireneaudio.comhttp://line.me/ti/p/WkEwlLUmW_www.ireneaudio.com/shop

smarturl.it/partch

0 comments :